Friday, December 9, 2011

ย้าย-ไม่ย้ายเมืองหลวง เสียงสะท้อนจาก 3 นักวิชาการ ที่ยังไม่มีคำตอบ

กรุงเทพมหานคร เวนิสตะวันออก เมืองหลวงประเทศไทย อยู่กับน้ำมา 200 ปี เคยถูกน้ำท่วมมาแล้วทั่ว กทม.ในปี พ.ศ.2485 สมัยของจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี

ในยุคสมัยของท่าน จอมพลกระดูกเหล็กมีแผนจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ไม่ได้ย้ายหนีน้ำ เป็นเพราะประเทศไทยถูกทิ้งระเบิดอย่างหนัก จากฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ที่ย้าย กทม.หนีน้ำจริงๆ มีอยู่ในหลายรัฐบาล อาทิ รัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็เคยมีแนวคิดที่จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ "เขาตะเกียบ" จังหวัดฉะเชิงเทรา

รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจะสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ จ.นครนายก และเมื่อครั้งที่นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 3 (20 เมษายน พ.ศ.2519-23 กันยายน พ.ศ.2519) ก็มีความคิดที่จะย้ายเมืองหลวงไปที่ จ.นครปฐม

ล่าสุด ปัจจุบัน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติศึกษาการ "ย้ายเมืองหลวง" ไป "นครนายก/เพชรบูรณ์" เพื่อหนีน้ำท่วม โดยอ้างว่าสภาวะแวดล้อมเปลี่ยน

ขณะเดียวกันก็มีทั้งนักวิชาการที่ออกมาสนับสนุนและไม่สนับสนุนการย้ายเมืองหลวง อาทิ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอิสระ ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล นักวิชาการหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารโรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี

รศ.ศรีศักร นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี บอกถึงความน่าจะเป็นของการย้ายเมืองหลวง ว่า "มีความเป็นไปได้" แต่การย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ จ.นครนายก เป็นเรื่องที่ไม่ฉลาด เพราะเท่าที่ผ่านมานครนายกก็ถูกน้ำท่วมมาแล้ว

ซึ่งถ้าหากไม่ย้ายเมืองหลวง ขอแนะนำให้เอาแผนผังสมัยรัชกาลที่ 5 มาทบทวนเรื่องคูคลองในการระบายน้ำ

(บน) เขาขนาบน้ำสัญลักษณ์จังหวัดกระบี่ที่นักวิชาการให้ย้าย กทม.ไปอยู่ (ล่าง) พัทยา แหล่งท่องเที่ยวใน จ.ชลบุรี ที่นักวิชาการระบุให้ย้าย กทม.ไปอยู่



เพราะน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ได้เป็นความผิดของใคร แต่อยู่ที่การบริหารจัดการน้ำเป็นสำคัญ น้ำที่ไหลมาทางทิศตะวันออกไหลลงสู่ทะเลไม่สะดวกเพราะติดนิคมอุตสาหกรรม สมัยรัชกาลที่ 5 มีการต่อคลองเพื่อให้น้ำหลากลงมาตามธรรมชาติ

ส่วนด้านตะวันตกนั้นเป็นพื้นที่ปลูกข้าว ก็มีการรักษากันไว้ ทำให้มองว่าเห็นที่ทางเศรษฐกิจดีกว่าชีวิตคน สำคัญที่สุดต้องคำนึงถึงชีวิตคน ในอดีต กทม.ก็ถูกน้ำท่วมมาแล้ว ตอนปี พ.ศ.2485 ตอนนั้นผมอายุไม่กี่ขวบ ผมยังเคยไปแก้ผ้าว่ายน้ำที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย น้ำท่วมอยู่เดือนกว่าก็ไม่มีปัญหาอะไร หรือน้ำจะเข้ามาจริงๆ ต้องอยู่กับมันให้ได้

อ.ศรีศักรบอกอีกว่า ถ้าจำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงจริงๆ จังหวัดที่น่าจะเลือกเป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางการปกครองคือ จังหวัดระยองหรือชลบุรี เพราะน้ำท่วมไม่ถึง ส่วน กทม.ก็ปล่อยให้เป็นเมืองท่าใหญ่ แล้วก็ใช้สนามบินอู่ตะเภา แต่ในความเป็นจริงการจะรักษา กทม.ไว้คงทำไม่ได้ เพราะว่าสภาพภูมิอากาศแปรปรวนหมด มรสุมมาบ่อยมากขึ้น แนวโน้มน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งตามการพยากรณ์บอกว่า อีก 50 ปีก็อยู่ไม่ได้แล้ว หรือทั้งภาคกลางจมน้ำหมด

"กรุงเทพฯจะรอดได้ก็ต้องเปลี่ยนสังคม เป็นสังคมเกษตรกรรมอยู่กับน้ำอย่างมีความสุข" นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีคนเดิมบอก พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ในปี 2555 จะเป็นปีที่คนกรุงเทพฯต้องรับน้ำที่หลากลงมาอีกจำนวนมาก กรุงเทพฯจะกลายเป็นนรกตะวันออกไปในที่สุด

ทางด้าน รศ.ดร.ธนวัฒน์ นักวิชาการหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ไม่ควรย้ายเมืองหลวง เพราะจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก อีกทั้งกรุงเทพฯเป็นเมืองเก่าที่ลงทุนมาตั้ง 200 กว่าปี มันน่าเสียดาย เสียดายวัฒนธรรมของ กทม.ที่จะหายไป ซึ่งเรื่องนี้มีการศึกษากันมาตั้งแต่เมื่อปี 2538 ที่น้ำท่วม กทม.หนักมาก

แนวคิดของการแก้ไข ซึ่งทำได้โดยไม่ต้องย้ายกรุงเทพฯคือ การบีบเมืองหลวงไม่ให้โต แต่ไปโตที่เมืองบริวาร ที่อยู่ห่างจาก กทม.ประมาณ 100 กิโลเมตร มีด้วยกัน 4 เมือง คือ สุพรรณบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา และราชบุรี แล้วใช้รถไฟความเร็วสูง 200 กม./ชม. สำหรับคนที่อยู่เมืองบริวารใช้โดยสารเวลามาทำงานใน กทม. โดยใช้เวลา 30 นาที



ประโยชน์อีกประการคือ ศูนย์อำนาจจะกระจายออกไป ยกตัวอย่าง เมืองสุพรรณบุรีอาจจะเป็นเมืองการศึกษา หรือศูนย์ราชการอาจจะไปอยู่จังหวัดไหนจังหวัดหนึ่ง ใน 4 เมืองบริวาร

รศ.ดร.ธนวัฒน์บอกอีกว่า เราไม่ควรจะทิ้งเมืองหลวง และเพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันน้ำท่วมที่อาจจะมาถึง ก็ต้องมี ระบบป้องกันน้ำท่วมแบบครบวงจร คือซุปเปอร์เอ็กซเพรส ฟลัดเวย์ (Super express Floodway) เส้นทางด่วนพิเศษสำหรับน้ำท่วมไหลหลาก

น้ำจากทางเหนือมีที่มาจาก 4 เส้นทางจะไหลลงมาที่แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน ตามธรรมชาติน้ำเมื่อลงทะเลไม่ทันก็ต้องไหลมาที่ทุ่งน้ำ แถวบางบัวทอง แล้วจะหลากลงมาโดยธรรมชาติ จะใช้แนวคลองในปัจจุบัน อาทิ คลองชัยนาท คลองป่าสัก คลองรพีพัฒน์ใต้ และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ออกสู่ทะเลต่อไป

รศ.ดร.ธนวัฒน์ถามกลับว่า แล้วทำไมต้องย้ายเมืองหลวง ข้อมูลที่บอกว่า กทม.ทรุดปีละ 20 ซม.นั้นไม่ใช่ ตอนนี้อัตราการทรุดตัวของ กทม. 1-3 ซม.เท่านั้น

ที่มีการกล่าวอ้างกันว่ากรุงเทพฯจะหายไป จากการศึกษาพบว่าปัญหาหลักที่กรุงเทพฯจะถูกน้ำทะเลท่วมในอนาคตถึง 76% นั้น 16% เกิดจากภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น ส่วนอีก 8% จากการสร้างเขื่อน กักเก็บตะกอนไว้ทำให้ไม่สามารถกลับสู่ชายฝั่งได้ ซึ่งในรอบ 100 ปีข้างหน้าจากการศึกษา ชายฝั่งของ กทม.จะถูกกัดเซาะไปแค่ 7-6 กม. หรือประมาณ 2.7 หมื่นไร่

"ในอนาคตมันไม่คุ้มกันที่จะย้ายเมืองหลวงไป เราสร้างวัฒนธรรมมายาวนาน ข้อมูลที่ระบุว่ากรุงเทพฯจะถูกน้ำทะเลท่วม เป็นข้อมูลที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ก็ต้องเห็นตรงกัน"

รศ.ดร.ธนวัฒน์บอกว่า ไม่ใช่พอมีข้อมูลน้ำท่วมหรือโดนน้ำท่วมหนักก็จะแก้ปัญหาด้วยการย้ายเมือง มันไม่ถูกต้อง ปัญหาน้ำท่วม กทม.เผชิญอยู่ในขณะนี้เป็นเพราะการขยายตัวของเมืองหลวง ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงมากขึ้น ผมก็เลยเสนอมาตรการคือขีด กทม.ไม่ให้โต เสร็จแล้วไปโต 4 เมือง ในมาตรการพัฒนากรุงเทพฯและเมืองบริวาร เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ไม่ใช้โครงสร้าง แต่ใช้เชิงนโยบาย

ขณะที่ ดร.อาจอง ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดที่เสนอการย้ายเมืองหลวงว่า "ผมพูดมานานแล้วว่า กทม.จะถูกน้ำทะเลท่วม มันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างที่เขตบางขุนเทียน ในขณะนี้เราสูญเสียแผ่นดินไปหลายกิโลเมตร และถ้าหากน้ำทะเลขึ้นสูงถึง 7 ม.เมื่อไหร่ กทม. นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี (บางพื้นที่) และลพบุรี (บางพื้นที่) เจอแน่ และไม่ต้องรอหลายปี เพราะปีหน้าจะมีน้ำจากทางเหนือมามากขึ้น เพราะภาวะโลกร้อน น้ำทะเลระเหย น้ำแข็งละลายที่ขั้วโลกเหนือไหลลงสู่ทะเล"

การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการย้ายเมืองหลวง ดร.อาจองแนะว่า ควรหาพื้นที่ที่จะรอดพ้นภาวะน้ำท่วม ซึ่งคงจะต้องมีความสูงประมาณ 100 ม.จากระดับน้ำทะเล และไม่มีรอยเลื่อนของเปลือกโลก ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ทางภาคเหนือ เพราะมีรอยเลื่อนมาก

พื้นที่ที่ไม่มีรอยเลื่อน คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนเหนือ และจังหวัดทางภาคใต้ อาทิ ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ และที่สำคัญที่สุดจะต้องเลือกจังหวัดที่ไม่มีแผ่นดินไหวด้วย

ดร.อาจองบอกเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลจะต้องสร้างเขื่อนป้องกันน้ำทะเลที่อาจจะมาท่วมถึง กทม.อย่างถาวร คือ สร้างเขื่อนที่อ่าวไทย จากสัตหีบถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หากเป็นจังหวัดอื่นไม่เหมาะ เพราะอาจจะมีน้ำซึมได้

ย้ายหรือไม่ย้ายเมืองหลวง คงจะต้องรีบตัดสินใจเสียแต่วันนี้ ดีกว่ารอให้ท่วมแล้วค่อยป้องกัน